รัก ร้อง เล่น ตัดปะ : วรรณคดีไทยสร้างสรรค์ กับ การสรรสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน
รายละเอียดคอร์สเรียน
โครงการอบรม
รัก ร้อง เล่น ตัดปะ : วรรณคดีไทยสร้างสรรค์ กับ การสรรสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน
(WisArts Soft Skills Series)
ระหว่างวันที่ 13 – 15 พฤษภาคม 2568 (เรียนที่คณะ)
ค่าอบรมท่านละ 4,000 บาท (สี่พันบาทถ้วน)
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1. หลักการและเหตุผล
ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและการทำงาน ทักษะที่เรียกว่า Soft Skills ซึ่งรวมถึงการคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และความยืดหยุ่นในการปรับตัว กลายเป็นกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จในโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว Soft Skills เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมส่วนบุคคลและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งมักจะส่งผลต่อวิธีที่เราทำงานและปฏิบัติต่อผู้อื่นในชีวิตประจำวัน ทักษะเหล่านี้ไม่ใช่แค่เพียงการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี แต่ยังครอบคลุมถึงทักษะอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความสามารถในการคิดอย่างอย่างสร้างสรรค์ หรือการตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองและสังคม
โครงการ Lifelong Learning ด้าน Soft Skills ของคณะอักษรศาสตร์ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โครงการนี้มีหลักสูตรที่ครอบคลุมทักษะสำคัญ เช่น การคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication) และการรู้เท่าทันในยุคดิจิทัล (Digital Literacy) โดยหลักสูตรเหล่านี้ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับผู้เรียนทุกเพศทุกวัย และเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเต็มที่ การพัฒนา Soft S
kills ผ่านโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนในด้านการทำงาน แต่ยังส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวต่อสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการทำงาน การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน และการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ
โครงการ Lifelong Learning ชุด Soft Skills แบ่งเนื้อหาการจัดการเรียนการสอนตามกลุ่มทักษะ โดยผู้เรียนสามารถเลือกกลุ่มทักษะที่สนใจเป็นโมดูลสะสมทักษะได้เอง ซึ่งมีทักษะหลัก 6 ด้านให้เลือก ได้แก่
1) Critical Thinking: การคิดเชิงวิพากษ์ การวิเคราะห์ปัญหาและหาคำตอบอย่างมีเหตุผล
2) Creative Thinking: การคิดเชิงสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหาอย่างนวัตกรรม
3) Digital Literacy: การรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ
4) Communication: การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในบริบทต่างๆ
5) Self-Awareness: การตระหนักรู้ในตนเองและการบริหารอารมณ์
6) Cultural Awareness: ความเข้าใจและเคารพในวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ผู้เรียนสามารถเลือกศึกษาโมดูลที่สนใจและเก็บสะสมทักษะไปเรื่อย ๆ ตามความความสนใจ โดยทุกทักษะจะมีวิชาย่อยให้เลือกเรียน ซึ่งหมายความว่าผู้เรียนมีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้ของตนเอง สามารถเรียนก่อนหลังในแต่ละทักษะได้ตามที่ต้องการ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยลำดับของการเรียน ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรหลังผ่านการเรียนแต่ละวิชา และเมื่อผู้เรียนสะสมทักษะครบ 45 ชั่วโมง จะสามารถนำมาเทียบโอนเข้ามาเป็นรายวิชาทักษะในศตวรรษที่ 21 ในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตได้
คอร์ส “รัก ร้อง เล่น ตัดปะ: วรรณคดีไทยสร้างสรรค์ กับ การสรรสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน” เป็นคอร์สภายใต้โครงการ WisArts Soft Skills Series ซึ่งมุ่งเน้นทักษะ Creative thinking สืบเนื่องจากในปัจจุบัน การเรียนรู้วรรณคดีไทยในหมู่เยาวชนเผชิญทั้งปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจในบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมของวรรณคดี หรือความซับซ้อนของภาษาวรรณศิลป์ที่อาจทำให้เยาวชนขาดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ อีกทั้งสื่อร่วมสมัยที่หลากหลายและเข้าถึงง่าย ทำให้วรรณคดีไทยอาจถูกมองว่าห่างไกลจากชีวิตประจำวันของผู้เรียน ดังนั้น โครงการ “รัก ร้อง เล่น ตัดปะ: วรรณคดีไทยสร้างสรรค์ กับ การสรรสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน” จึงจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและผู้สนใจได้ค้นพบมิติใหม่ของวรรณคดีไทย ผ่านกิจกรรมที่ผสานความคิดสร้างสรรค์เข้ากับศิลปะและสื่อร่วมสมัย กิจกรรมในโครงการมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความเข้าใจเชิงลึกในเนื้อหาและคุณค่าของวรรณคดีไทย พร้อมกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความรักและความผูกพันกับวรรณคดีผ่านการ “ร้อง เล่น และตัดปะ”
เนื้อหาโครงการประกอบด้วยการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาและอุปสรรคในการเรียนการสอนวรรณคดีไทย การสำรวจแง่มุมความรักจากเรื่อง “มัทนะพาธา” การเรียนรู้ภาษาวรรณศิลป์ผ่านสื่อหลากหลาย ทั้งเพลงไทยและสื่อร่วมสมัย ตลอดจนการทำงานปฏิบัติด้านศิลปะตัดปะ (Collage) ที่ผู้เรียนจะได้ทดลองและสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง ภายใต้แรงบันดาลใจจากวรรณคดีไทย
กระบวนการดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้เข้าร่วมได้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การตีความ การเชื่อมโยง และการสร้างผลงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์และสะท้อนตัวตน โครงการนี้ยังสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแนวทางการเรียนการสอนวรรณคดีไทยที่สนุก ทันสมัย และเข้าใจง่าย อันจะนำไปสู่การสืบสานและต่อยอดคุณค่าของวรรณคดีไทยในสังคมต่อไปอย่างยั่งยืน
2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและผู้สนใจเกิดความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับวรรณคดีไทย ทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคม และคุณค่าทางวรรณศิลป์
2. เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ผ่านการบูรณาการระหว่างวรรณคดีไทยกับศิลปะและสื่อร่วมสมัย เช่น เพลงไทยและงานตัดปะ (Collage)
3. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการวิเคราะห์ ตีความ และสร้างผลงานศิลปะที่สะท้อนตัวตน โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากวรรณคดีไทย
4. เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการจัดการเรียนการสอนวรรณคดีไทยที่สนุก ทันสมัย และตอบโจทย์การเรียนรู้ของเยาวชน
5. เพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดีและความผูกพันกับวรรณคดีไทย อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์และต่อยอดคุณค่าวรรณคดีไทยในสังคมต่อไปอย่างยั่งยืน
3. หัวข้อการอบรม
- ล้อมวงเสวนา: ปัญหาและอุปสรรคในการเรียนการสอนวรรณคดีไทย
- เรียนรู้เรื่อง "รัก" จาก "มัทนะพาธา"
- ภาษาวรรณศิลป์ในวรรณคดี เพลงไทย และสื่อร่วมสมัย
- ภาคปฏิบัติ: กว่าจะเป็น "ภาพตัดปะ"...คิดเล่นๆ จนเป็นภาพ
- เรียนรู้เรื่อง "ศิลปะตัดปะ" จากประสบการณ์ของศิลปิน
- ภาคปฏิบัติ: สร้างสรรค์งานคอลลาจโดยได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณคดีไทย
4. อาจารย์ในรายวิชา
1. อ.ดร. ใกล้รุ่ง อามระดิษ
2. อ.ดร.อัสนี พูลรักษ์
3. ผศ.หัตถกาญจน์ อารีศิลป์
4. คุณนักรบ มูลมานัส
5. ระยะเวลาในการอบรม
เวลา 10.00 - 12.00 น. และ 13.00-16.00 น. ระหว่างวันที่ 13 - 15 พฤษภาคม 2568 รวม 15 ชั่วโมง
6. กำหนดการรับสมัคร
ตั้งแต่วันนี้ – 7 พฤษภาคม 2568
7. วิธีการสมัคร
สมัครออนไลน์ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.cascachula.com
8. สถานที่อบรม
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9. คุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรม
บุคคลทั่วไป
10. ค่าธรรมเนียมการอบรม
ค่าธรรมเนียมในการอบรม 4,000 บาท
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่คืนเงินค่าธรรมเนียมการอบรมที่ได้ชำระแล้ว ไม่ว่ากรณีใด นอกจากจะไม่สามารถเปิดการอบรมได้
11. การประเมินผล
ในการเรียนวันสุดท้ายช่วงบ่ายจะมีการวัดและประเมินโดยพิจารณาจากการนำเสนอผลงานและคอนเซ็ปต์ใน การสร้างสรรค์ผลงานวรรณคดีคอลลาจ
ผู้เรียนที่ลงทะเบียนเรียนเข้าร่วมและสอบผ่านในระดับ C จะได้รับ Certificate of Completion
***หากได้รับ Certificate of Completion ครบตามข้อกำหนดของรายวิชา 2200309 (สอบผ่านรายวิชาที่อยู่ในชุด Soft Skills Series ที่เรียนกันแล้วรวม 45 ชั่วโมง)
สามารถโอนเทียบเป็นรายวิชา 2200309 ซึ่งเป็นรายวิชาการศึกษาทั่วไปของคณะอักษรศาสตร์ ได้ ***
12. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.ตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บุคคลทั่วไปที่ต้องการศึกษาต่อเนื่อง
2.ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิต และประกอบอาชีพต่อไป
13. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีคณะกรรมการดำเนินโครงการประกอบด้วย
1. รองคณบดีฝ่ายวิชาการ* ประธานกรรมการ
2. ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ* กรรมการ
3. ผู้อำนวยฝ่ายวิชาการ* กรรมการ
4. เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ* กรรมการและเลขานุการ