มูไป.. รู้ไป..
รายละเอียดคอร์สเรียน
โครงการอบรม
“ มูไป.. รู้ไป.. ”
(WisArts Soft Skills Series)
วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน 2568 (Onsite)
ค่าอบรมท่านละ 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
1. หลักการและเหตุผล
ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและการทำงาน ทักษะที่เรียกว่า Soft Skills ซึ่งรวมถึงการคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และความยืดหยุ่นในการปรับตัว กลายเป็นกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จในโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว Soft Skills เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมส่วนบุคคลและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งมักจะส่งผลต่อวิธีที่เราทำงานและปฏิบัติต่อผู้อื่นในชีวิตประจำวัน ทักษะเหล่านี้ไม่ใช่แค่เพียงการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี แต่ยังครอบคลุมถึงทักษะอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความสามารถในการคิดอย่างอย่างสร้างสรรค์ หรือการตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองและสังคม
โครงการ Lifelong Learning ด้าน Soft Skills ของคณะอักษรศาสตร์ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โครงการนี้มีหลักสูตรที่ครอบคลุมทักษะสำคัญ เช่น การคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication) และการรู้เท่าทันในยุคดิจิทัล (Digital Literacy) โดยหลักสูตรเหล่านี้ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับผู้เรียนทุกเพศทุกวัย และเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเต็มที่ การพัฒนา Soft S kills ผ่านโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนในด้านการทำงาน แต่ยังส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวต่อสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการทำงาน การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน และการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ
โครงการ Lifelong Learning ชุด Soft Skills แบ่งเนื้อหาการจัดการเรียนการสอนตามกลุ่มทักษะ โดยผู้เรียนสามารถเลือกกลุ่มทักษะที่สนใจเป็นโมดูลสะสมทักษะได้เอง ซึ่งมีทักษะหลัก 6 ด้านให้เลือก ได้แก่
1) Critical Thinking: การคิดเชิงวิพากษ์ การวิเคราะห์ปัญหาและหาคำตอบอย่างมีเหตุผล
2) Creative Thinking: การคิดเชิงสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหาอย่างนวัตกรรม
3) Digital Literacy: การรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ
4) Communication: การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในบริบทต่างๆ
5) Self-Awareness: การตระหนักรู้ในตนเองและการบริหารอารมณ์
6) Cultural Awareness: ความเข้าใจและเคารพในวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ผู้เรียนสามารถเลือกศึกษาโมดูลที่สนใจและเก็บสะสมทักษะไปเรื่อยๆ ตามความความสนใจ โดยทุกทักษะจะมีวิชาย่อยให้เลือกเรียน ซึ่งหมายความว่าผู้เรียนมีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้ของตนเอง สามารถเรียนก่อนหลังในแต่ละทักษะได้ตามที่ต้องการ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยลำดับของการเรียน ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรหลังผ่านการเรียนแต่ละวิชา และเมื่อผู้เรียนสะสมทักษะครบ 45 ชั่วโมง จะสามารถนำมาเทียบโอนเข้ามาเป็นรายวิชาทักษะในศตวรรษที่ 21 ในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตได้
คอร์ส “มูไป.. รู้ไป..” เป็นคอร์สภายใต้โครงการ WisArts Soft Skills Series ซึ่งมุ่งเน้นทักษะ Cultural Awareness สืบเนื่องจากในยุคปัจจุบัน กระแสการ “มู” หรือการกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์กำลังเป็นที่นิยมในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการขอพรจากเทพเจ้าฮินดู ไปจนถึงพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ความเชื่อดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่อาจห้ามหรือยับยั้งได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม การ “มู” โดยปราศจากความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรากฐานทางความคิดและวัฒนธรรม อาจนำไปสู่การบิดเบือนหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญของคติความเชื่อ ด้วยเหตุนี้ คอร์ส “มูไป.. รู้ไป” จึงจัดทำขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่สนใจได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทพปกรณัมในคติฮินดู-พุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทวัฒนธรรมอินเดียที่เป็นรากฐานของความเชื่อศรัทธาต่อเทพเจ้าต่าง ๆ ผู้เรียนจะได้รับความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความหมายเชิงสัญลักษณ์ และบทบาทของเทพเจ้าในบริบทดั้งเดิม ซึ่งจะช่วยให้การ “มู” เป็นไปอย่างมีวิจารณญาณและไม่บิดเบือนเจตนารมณ์ของศรัทธาดั้งเดิม
คอร์สนี้ยังส่งเสริมการตระหนักรู้ในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงวิธีการเคารพและนำความศรัทธามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสมและมีความหมาย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความศรัทธากับความเข้าใจเชิงลึก สร้างความสมดุลระหว่างการ “มู” และการดำรงชีวิตท่ามกลางสังคมสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน
2. วัตถุประสงค์
1) เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทพปกรณัมในคติฮินดู-พุทธและเข้าใจรากฐานทางวัฒนธรรมของการนับถือเทพเจ้าในบริบทของอินเดีย
2) เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนตระหนักถึงคุณค่าของความเชื่อและประวัติศาสตร์ที่หล่อหลอมความศรัทธาในเทพเจ้า
3) เพื่อส่งเสริมความเคารพและความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านการศึกษาคติความเชื่อและประเพณีของสังคมอินเดีย
4) เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการนำความศรัทธามาใช้ในชีวิตประจำวันในบริบทสมัยใหม่อย่างมีความหมายและสมดุล
3. หัวข้อการอบรม
1) ภาพรวมของเทพเจ้าในศาสนาฮินดูและพุทธ
2) สัญลักษณ์ทางศาสนา: ความหมายและการตีความ
3) จากศรัทธาสู่ธุรกิจ: การค้าและการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ
4) จริยธรรมในการนับถือเทพเจ้า
4. อาจารย์ผู้สอน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว
5. ระยะเวลาในการอบรม
วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน 2568 เวลา 09.00-12.00 น. รวม 3 ชั่วโมง
6. กำหนดการรับสมัคร
ตั้งแต่วันนี้ – 23 พฤษภาคม 2568
7. วิธีการสมัคร
สมัครออนไลน์ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.cascachula.com
8. สถานที่อบรม
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9.คุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรม
บุคคลทั่วไป
10. ค่าธรรมเนียมการอบรม
ค่าธรรมเนียมในการอบรม 500 บาท
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่คืนเงินค่าธรรมเนียมการอบรมที่ได้ชำระแล้วไม่ว่ากรณีใด นอกจากจะไม่สามารถเปิดการอบรมได้
11. การประเมินผล
หัวข้อนี้มีการเรียน 3 ชั่วโมง ในช่วงท้ายคาบจะมีการประเมิน (ใช้เวลาประมาณ 15 นาที) ผู้เรียนที่ลงทะเบียนเรียนเข้าร่วมและสอบผ่านในระดับ C จะได้รับ Certificate of Completion
***หากได้รับ Certificate of Completion ครบตามข้อกำหนดของรายวิชา 2200309 (สอบผ่านรายวิชาที่อยู่ในชุด Soft Skills Series ที่เรียนกันแล้วรวม 45 ชั่วโมง) สามารถโอนเทียบเป็นรายวิชา 2200309 ซึ่งเป็นรายวิชาการศึกษาทั่วไปของคณะอักษรศาสตร์ ได้ ***
12. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้
แก่บุคคลทั่วไปที่ต้องการศึกษาต่อเนื่อง
2. ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพต่อไป
13. ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีคณะกรรมการดำเนินโครงการประกอบด้วย
1. รองคณบดีฝ่ายวิชาการ* ประธานกรรมการ
2. ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ* กรรมการ
3. ผู้อำนวยฝ่ายวิชาการ* กรรมการ
4. เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ* กรรมการและเลขานุการ