สถิติกับการปกปิดความจริง
รายละเอียดคอร์สเรียน
โครงการอบรม
“สถิติกับการปกปิดความจริง”
(WisArts Soft Skills Series)
วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน 2568 (Onsite)
ค่าอบรมท่านละ 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
1. หลักการและเหตุผล
ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและการทำงาน ทักษะที่เรียกว่า Soft Skills ซึ่งรวมถึงการคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และความยืดหยุ่นในการปรับตัว กลายเป็นกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จในโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว Soft Skills เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมส่วนบุคคลและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งมักจะส่งผลต่อวิธีที่เราทำงานและปฏิบัติต่อผู้อื่นในชีวิตประจำวัน ทักษะเหล่านี้ไม่ใช่แค่เพียงการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี แต่ยังครอบคลุมถึงทักษะอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความสามารถในการคิดอย่างอย่างสร้างสรรค์ หรือการตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองและสังคม
โครงการ Lifelong Learning ด้าน Soft Skills ของคณะอักษรศาสตร์ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โครงการนี้มีหลักสูตรที่ครอบคลุมทักษะสำคัญ เช่น การคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication) และการรู้เท่าทันในยุคดิจิทัล (Digital Literacy) โดยหลักสูตรเหล่านี้ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับผู้เรียนทุกเพศทุกวัย และเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเต็มที่ การพัฒนา Soft Skills ผ่านโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนในด้านการทำงาน แต่ยังส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวต่อสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการทำงาน การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน และการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ
โครงการ Lifelong Learning ชุด Soft Skills แบ่งเนื้อหาการจัดการเรียนการสอนตามกลุ่มทักษะ โดยผู้เรียนสามารถเลือกกลุ่มทักษะที่สนใจเป็นโมดูลสะสมทักษะได้เอง ซึ่งมีทักษะหลัก 6 ด้านให้เลือก ได้แก่
1) Critical Thinking: การคิดเชิงวิพากษ์ การวิเคราะห์ปัญหาและหาคำตอบอย่างมีเหตุผล
2) Creative Thinking: การคิดเชิงสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหาอย่างนวัตกรรม
3) Digital Literacy: การรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ
4) Communication: การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในบริบทต่างๆ
5) Self-Awareness: การตระหนักรู้ในตนเองและการบริหารอารมณ์
6) Cultural Awareness: ความเข้าใจและเคารพในวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ผู้เรียนสามารถเลือกศึกษาโมดูลที่สนใจและเก็บสะสมทักษะไปเรื่อยๆ ตามความความสนใจ โดยทุกทักษะจะมีวิชาย่อยให้เลือกเรียน ซึ่งหมายความว่าผู้เรียนมีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้ของตนเอง สามารถเรียนก่อนหลังในแต่ละทักษะได้ตามที่ต้องการ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยลำดับของการเรียน ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรหลังผ่านการเรียนแต่ละวิชา และเมื่อผู้เรียนสะสมทักษะครบ 45 ชั่วโมง จะสามารถนำมาเทียบโอนเข้ามาเป็นรายวิชาทักษะในศตวรรษที่ 21 ในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตได้
คอร์ส “สถิติกับการปกปิดความจริง” เป็นคอร์สภายใต้โครงการ WisArts Soft Skills Series ซึ่งมุ่งเน้นทักษะ Critical Thinking ซึ่งสืบเนื่องจากการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเราถูกกำหนดโดยกฎหมายและนโยบายที่ขีดเส้นแบ่งสิ่งที่ทำได้ vs. สิ่งที่ทำไม่ได้ให้จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าปรากฏการณ์โลกยุคหลังความจริง (post-truth) แทรกซึมเข้าสู่กระบวนการได้มาซึ่งกฎหมายและนโยบาย เมื่อคนสองกลุ่มที่มีวาระทางสังคมต่างกันอ้างอิงสถิติคนละชุดเพื่อผลักดันกฎหมายและนโยบายไปในทิศทางที่ต่างฝ่ายปรารถนา เราจะมีวิธีอย่างไรในการตรวจสอบสถิติเหล่านี้ว่าถูกต้องหรือไม่ โดยไม่ถอดใจไปเสียก่อนเมื่อเผชิญกับชุดตัวเลขที่เราถูกพร่ำบอกว่าน่าเชื่อถือกว่าความคิดเห็นที่มีพื้นฐานจากประสบการณ์ส่วนตัว เพราะมีความเป็นภววิสัยและครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างที่หลากหลายมากกว่า วิชานี้จะพาผู้เรียนไปพิจารณาตัวอย่างของการใช้สถิติที่เชื่อกันว่าเป็นภววิสัยนี้เพื่อปกปิด บิดเบือน หรือตีกรอบการรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและในโลกให้เป็นไปตามเจตนามุ่งหมายของผู้ใช้สถิตินั้นๆ ซึ่งหากสำเร็จย่อมส่งผลต่อกฎหมายและนโยบายที่จะย้อนกลับมากำหนดการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเราว่าจะมีความเป็นไปได้ที่หลากหลายมากขึ้นหรือจำกัดคับแคบลงเพียงใด จากนั้นจะพาผู้เรียนไปศึกษาตรรกะแบบอุปนัยที่ถูกต้องที่ไม่เพียงช่วยชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องผิดพลาดในการใช้สถิติ แต่ยังสามารถนำไปใช้สร้างข้อเสนอเชิงนโยบายบนพื้นฐานของสถิติในระดับเบื้องต้นที่น่าเชื่อถือโดยตัวผู้เรียนได้
2. วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักรู้และมีวิจารณญาณเกี่ยวกับปัญหาของการใช้สถิติเพื่อปกปิดความจริง
3. หัวข้อการอบรม
- นิยามและหลักการพื้นฐานของการอ้างเหตุผล
- นิยามการอ้างเหตุผลแบบอุปนัยระบุจำนวนและการอ้างเหตุผลแบบอุปนัยที่มีการใช้สถิติ
- หลักการและองค์ประกอบของการอ้างเหตุผลแบบอุปนัยที่มีการใช้สถิติที่ดี
- ตัวอย่างการใช้สถิติเพื่อปกปิด บิดเบือนหรือตีกรอบการรับรู้ของผู้อ่านและผู้ชมที่พบในสื่อ
- เครื่องมือในการตรวจสอบการใช้สถิติบกพร่อง
- ข้อควรระวังโดยรวมเกี่ยวกับการอ้างเหตุผลแบบอุปนัยที่มีการใช้สถิติ
- การใช้สถิติอย่างถูกต้องกับการสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองในสังคมแบบประชาธิปไตย
4. อาจารย์ในรายวิชา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยฤดี ไชยพร
5. ระยะเวลาในการอบรม
วันที่ 8 มิถุนายน 2568 เวลา 09.00-12.00 น. รวม 3 ชั่วโมง
6. กำหนดการรับสมัคร
ตั้งแต่วันนี้ – 30 พฤษภาคม 2568
7. วิธีการสมัคร
สมัครออนไลน์ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.cascachula.com
8. สถานที่อบรม
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9. คุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรม
บุคคลทั่วไป
10. ค่าธรรมเนียมการอบรม
ค่าธรรมเนียมในการอบรม 500 บาท
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่คืนเงินค่าธรรมเนียมการอบรมที่ได้ชำระแล้ว ไม่ว่ากรณีใด นอกจากจะไม่สามารถเปิดการอบรมได้
11. การประเมินผล
หัวข้อนี้มีการเรียน 3 ชั่วโมง ในช่วงท้ายคาบจะมีการประเมิน (ใช้เวลาประมาณ 15 นาที) ผู้เรียนที่ลงทะเบียนเรียนเข้าร่วมและสอบผ่านในระดับ C จะได้รับ Certificate of Completion
***หากได้รับ Certificate of Completion ครบตามข้อกำหนดของรายวิชา 2200309 (สอบผ่านรายวิชาที่อยู่ในชุด Soft Skills Series ที่เรียนกันแล้วรวม 45 ชั่วโมง) สามารถโอนเทียบเป็นรายวิชา 2200309 ซึ่งเป็นรายวิชาการศึกษาทั่วไปของคณะอักษรศาสตร์ ได้ ***
12. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.ตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้
แก่บุคคลทั่วไปที่ต้องการศึกษาต่อเนื่อง
2. ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพต่อไป
13. ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยมีคณะกรรมการดำเนินโครงการประกอบด้วย
1. รองคณบดีฝ่ายวิชาการ* ประธานกรรมการ
2. ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ* กรรมการ
3. ผู้อำนวยฝ่ายวิชาการ* กรรมการ
4. เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ* กรรมการและเลขานุการ